องค์ประกอบกีต้าร์ไฟฟ้า
กีต้าร์ไฟฟ้านั้นค่อนข้างจะมีความซับซ้อนมากกว่ากีต้าร์โปร่ง เพราะมีส่วนประกอบเยอะกว่าและมีภาคไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง ในการรีวิวแบบเจาะลึกกันทีละส่วน โดยเราจะแบ่งองค์ประกอบของกีต้าร์ไฟฟ้าออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ เพื่อให้เข้าใจง่าย คือ ส่วนหัว ส่วนคอ และส่วนลำตัว ถ้าพร้อมแล้วก็เริ่มกันที่ส่วนแรกกันเลย
ส่วนหัว (Headstock)
ส่วนหัวของกีต้าร์ไฟฟ้านั้นนอกจะเป็นตำแหน่งของลูกบิดแล้ว ยังเป็นจุดที่แสดงเอกลักษณ์ของยี่ห้อนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อ หรือ รูปทรงของหัวกีต้าร์ เช่น กีต้าร์ไฟฟ้ายี่ห้อ Suhr มีทรงบอดี้ สแตรท เหมือนกับกีต้าร์ไฟฟ้า Fender แต่ส่วนหัวจะมีทรงต่างกันทำให้เราแยกแยะได้ในทันทีที่เห็น ไม้ที่นิยมนำมาทำหัวกีต้าร์อาจจะเป็นไม้ชนิดเดียวกับที่ทำคอกีต้าร์ หรือไม้ชนิดเดียวกับบอดี้ หรือเป็นไม้หลายชนิดผสมกัน เช่นใช้ไม้ Rosewood แล้วปะหน้าด้วยไม้ Maple เพื่อความสวยงาม แล้วแต่การออกแบบของผู้ผลิต ส่วนประกอบอื่นๆของหัวกีต้าร์ก็จะมี
ลูกบิด (Tuning)
ลูกบิด หรือ จูนนิ่ง (Tuning) เป็นตัวยึดสายและใช้ปรับจูนความตึงหรือความหย่อนของสายให้ตรงตามโน๊ตของสายกีต้าร์หรือโน๊ตที่เราต้องการโดยจะมีกลไลฟันเฟืองในการหมุน ลูกบิดของกีต้าร์ไฟฟ้าจะมีการวางเรียงแบบใหญ่ๆอยู่สองแบบ คือ แบบเรียงแถวแบบกีต้าร์ fender และแบบแบ่งเป็นสองแถวแบบกีต้าร์ gibson วัสดุที่ใช้ทำลูกบิดก็มีมากมาย เช่น พลาสติก เหล็ก อลูมิเนียม และอื่นๆอีกมากมาย ลูกบิดมีมากมายหลายลักษณะและแต่การออกแบบของกีต้าร์ยี่ห้อนั้น เช่น ลูกบิดแบบธรรมดา ลูกบิดแบบล็อคสาย หรือเทคโนโลยี่สมัยนี้ที่จะมีลูกแบบดิจิตอลที่สามารถตั้งสายแบบอัตโนมัติได้
นัท (Nut)
นัทเป็นส่วนที่รองสายกีต้าร์ก่อนที่จะไปถึงลูกบิด อยู่เหนือเฟรตกีต้าร์ วัสดุที่ใช้ทำนัทมีอยู่หลายหลากชนิด เช่น พลาสติก กระดูก ไนลอน เหล็ก และมีแบบนัทล็อคสายสำหรับกีต้าร์ที่เป็น ฟลอย์โรส (Floyd Rose) ซึ่งแต่ละชนิดก็ให้เสียงแตกต่างกันไปตามแต่วัสดุ
ส่วนคอ (Neck)
คอเป็นอีกส่วนสำคัญของกีต้าร์ไฟฟ้า คอกีต้าร์มีหลายทรงซึ่งแต่ละทรงก็จะความรู้สึกที่แตกต่างกันไป เช่น ทรง V , soft V , C , U และทรงอื่นๆอีกมากมาย ไม้ที่นำมาทำคอกีต้าร์มีมากมาย เช่น Mahogany , Alder , Maple , Ebony หรือจะเป็นวัสดุอื่นๆ เช่น กราไฟท์ (Graphite)
ฟิงเกอร์บอร์ด (Fingerboard , Fretboard)
ฟิงเกอร์บอร์ด หรือ เฟรทบอร์ด คือไม้ที่ปะอยู่บนคอกีต้าร์อีกที เป็นตัวรองรับเฟรทกีต้าร์ ทำมาจากไม้หลากหลาย เช่น Rosewood , Ebony , Maple ฟิงเกอร์บอร์ดของกีต้าร์แต่ละยี่ห้อจะมีความโค้งไม่เหมือนกัน ความโค้งของฟิงเกอร์บอร์ดจะเรียกว่า เรเดียน (Radius) ซึ่งจะมีขนาดต่างกัน เช่น 7.2 นิ้ว 9.5 นิ้ว และอีกมากมาย ตัวเลขยิ่งน้อยก็จะยิ่งมีความโค้งมาก ความโค้งมากน้อยของฟิงเกอร์บอร์ดจะมีผลกับการเล่น กีต้าร์ไฟฟ้าสมัยก่อนจะมีความโค้งค่อนข้างมากทำให้เล่นยากและถูกปรับมาเรื่อยตามกาลเวลาทำให้กีต้าร์สมัยใหม่จะมีความโค้งไม่มากนัก ทำให้เล่นได้ง่ายขึ้น
เฟรท (Fret)
เฟรท คือ ก้านที่ทำจากเหล็ก นิคเกิ้ล หรือ สแตนเลส หรือวัสดุอื่นๆ ไว้แบ่งตำแหน่งของโน๊ตต่างๆบนฟิงเกอร์บอร์ด วัสดุแต่ละแบบที่ใช้ทำเฟรตก็จะให้ความรู้สึกและเสียงที่ต่างกัน ขนาดของเฟรทก็มีหลายขนาด เช่น Jumbo , Medium , Medium Jumbo และอีกมากมาย ขนาดของเฟรทแต่ละแบบก็มีผลกับการเล่นในและความรู้สึก
อินเลย์ (Inlay)
อินเลย์คือจุดหรือลวดลายบนฟิงเกอร์บอร์ดที่จะบอกถึงตำแหน่งของเฟรทกีต้าร์ โดยมากจะอยู่ที่ด้านหน้าและด้านบนของฟิงเกอร์บอร์ด แต่จะมีบางรุ่นที่อาจจะไม่มีอยู่ด้านหน้าฟิงเกอร์บอร์ดจะมีแค่ข้างบนอย่างเดียว โดยมากแล้วจะอยู่ในตำแหน่งเฟรทที่ 3,5,7,9,12,15,17 หรือแต่ต่างกันออกไปตามแต่ผู้ผลิต อินเลย์ที่เห็นกันมากๆจะเป็น จุด แบบกีต้าร์ fender หรือเป็นเหลี่ยมแบบกีต้าร์ gibson แต่ในกีต้าร์ราคาแพงอาจจะมีลวดลายที่สวยงามมากขึ้น อย่าง เถาวัลย์ หรือ นก เพื่อเพิ่มมูลค่าเช่นกีต้าร์ PRS , Ibanez อินเลย์ทำจากวัสดุที่หลากหลาย เช่น ไม้ , เปลือกหอย , พลาสติก , มุก , สติ๊กเกอร์ และอื่นๆอีกมากมาย
ก้านเหล็กขันคอ (Truss rod)
ก้านเหล็กขันคอ เป็นส่วนประกอบสำคัญของคอกีต้าร์ ตำแหน่งของ truss rod จะอยู่ที่คอกีต้าร์และถูกปิดทับด้วยฟิงเกอร์บอร์ดอีกที นอกจากจะเสริมความแข็งแรงให้กับคอแล้วยังมีประโยชน์ในการเซ็ทอัพอีกด้วย เราสามารถใช้ประแจหกเหลี่ยมในการขัน truss rod เพื่อให้คอกีต้าร์ของเราแอ่นหรือโกร่งได้ โดยมากแล้วจะอยู่ที่หัวกีต้าร์หรือไม่ก็ท้ายคอกีต้าร์ ถ้าเราต้องการให้คอกีต้าร์เราแอ่นมากขึ้นให้เราไขตามเข็มนาฬิกา แต่ถ้าอยากให้คอกีต้าร์โกร่งมากขึ้นก็ให้ไขทวนเข็มนาฬิกา
ส่วนลำตัว (Body)
บอดี้ของกีต้าร์ไฟฟ้าเป็นองค์ประกอบหลักและมีความสำคัญที่สุดของกีต้าร์ ทรงของกีต้าร์ไฟฟ้านั้นอย่างที่เรารู้ว่ามีมากมายหลายทรง เช่น Les paul , Stratocaster , SG , Hollow Body , Telecaster , V และอื่นๆอีกมากมาย ทรงแต่ละทรงก็ให้ความรู้สึกในการเล่น น้ำหนัก และเสียงแตกต่างกัน ไม้ที่นำมาทำบอดี้กีต้าร์ไฟฟ้านั้นมีมากมาย เช่น Alder , Ash , Maple , Mahogay , Rosewood , Basswood และอื่นๆอีกมากมาย ไม้แต่ละแบบก็จะให้เสียงที่แตกต่างกัน ในการทำบอดี้กีต้าร์อาจจะใช้ไม้หลายชนิดในการทำก็ได้ เพื่อให้ได้เสียงที่ผู้ผลิตต้องการ และเพื่อความสวยงามของกีต้าร์ เช่น กีต้าร์ Gibson ทรง Les paul ใช้ไม้ Mahogany ในการทำบอดี้และใช้ไม้ Maple ที่มีลายไม้ปะหน้าอีกทีเพื่อความสวยงาม
ปิ๊กอัพ (Pickup)
อีกส่วนที่สำคัญมากๆสำหรับกีต้าร์คือ ปิ๊กอัพ ซึ่งเป็นตัวรับแรงสั่นสะเทือนของสายกีต้าร์โดยผ่านขดลวดจำนวนมากและแปลงเป็นสัญญาณเสียงให้เราได้ยินกัน ปิ๊กอัพกีต้าร์มีหลายแบบหลายชนิดมากๆ แต่ละแบบก็มีคาแรคเตอร์ของเสียงที่แตกต่างกันไป เช่น ปิ๊กอัพ ซิงเกิ้ลคอยล์ (Single Coil) แบบกีต้าร์ fender ก็จะมีโทนเสียง เด้งๆ ทแวง ใส คม แต่ถ้าเป็นปิ๊กอัพแบบ ฮัมบัคกิ้ง (Humbucking) แบบกีต้าร์ gibson โทนเสียงก็จะหนา อิ่ม มีความอุ่นของเสียง นอกจากปิ๊กอัพสองชนิดนี้แล้วยังมีปิ๊กอัพแบบอื่นๆอีกด้วย เช่น P-90 , Mini humbucking , Lipstick pickup , Active pickup และอีกมากมาย ซึ่งปิ๊กอัพแต่ละแบบก็จะให้เสียงที่ต่างกันออกไป กีต้าร์โดยมากแล้วจะติดปิ๊กอัพมาให้ไม่น้อยกว่า 1 ตำแหน่ง อาจจะติดปิ๊กอัพชนิดเดียวกันหรือต่างชนิดก็ได้ เพื่อให้ได้เสียงที่หลากหลายในการใช้งาน เช่น กีต้าร์ fender ทรง สแตรท จะติดปิ๊กอัพมา 3 ตัว ซึ่งอาจจะเป็น ซิงเกิ้ลคอยล์ทั้ง 3 ตัว หรืออาจจะเป็น ปิ๊กอัพ ฮัมบัคกิ้งตัวหลัง ส่วนตัวกลางและตัวหน้าเป็น ซิงเกิ้ลคอยล์ก็ได้ ตำแหน่งของปิ๊กอัพก็มีผลกับเสียง เช่น กีต้าร์ gibson les paul ปิ๊กอัพฮัมบัคกิ้งตัวหลังจะมีความแหลมมากกว่าปิ๊กอักฮัมบัคกิ้งตัวหน้าซึ่งจะให้เสียงที่หนากว่า ทั้งหมดก็เพื่อให้ได้เสียงที่่ต่างกันทำให้ใช้งานได้กว้างมากขึ้น
ซีเล็คเตอร์ (Selecter)
ซีเล็คเตอร์หรือสวิตซ์ที่อยู่บนบอดี้กีต้าร์ ประโยชน์ของซีเล็คเตอร์คือการเลือกเสียงของปิ๊กอัพหรือผสมเสียงของปิ๊กอัพในตำแหน่งที่เราต้องการ ซีเล็คเตอร์นั้นจะเลือกได้กี่ทางนั้นขึ้นอยู่กับปิ๊กอัพของกีต้าร์ตัวนั้นว่ามีกี่ตัว โดยมากจะเป็น 3ทาง และ 5ทาง เช่น กีต้าร์ gibson les paul ที่มี 2 ปิ๊กอัพ จะเป็นซีเล็คเตอร์ 3 ทาง ถ้าเลื่อนซีเล็คเตอร์ไปด้านล่าง คือการเลือกใช้เสียงปิ๊กอัพตัวหลัง ถ้าเลื่อนซีเล็คเตอร์มาตรงกลางจะเป็นการผสมเสียงปิ๊กอัพทั้งสองตัว ถ้าเลื่อนซีเล็คเตอร์ขึ้นด้านบนคือการเลือกใช้ปิ๊กอัพตัวบน ถ้าเป็นกีต้าร์ fender stratocaster จะเป็นซีเล็คเตอร์ 5 ทาง ถ้าเลื่อนไปด้านหลังจะเป็นการใช้ปิ๊กอัพตัวหลัง ถ้าเลื่อนขึ้นมาจะเป็นการผสมปิ๊กอัพตัวหลังและตัวกลาง ถ้าเลื่อนซีเล็คเตอร์ขึ้นมาอีกก็จะเป็นการเลือกปิ๊กอัพตามลำดับที่เหลือ
ปุ่มปรับ (Knob)
ลูกบิด ปุ่มปรับ หรือ น็อบ (Knob) ที่เราพูดถึงอยู่นี้คือ วอลลุ่ม (Volume) และ โทน (Tone) ที่อยู่บนตัวกีต้าร์ วอลลุ่มนั้นจะทำหน้าที่ควบคุมความดังเบาของเสียงกีต้าร์ ส่วน โทน นั้นจะเป็นตัวควบคุมความ ทุ่ม – แหลม ของกีต้าร์เรา โดนการปรับโทนนั้นไม่มีกฏตายตัวว่าจะต้องเปิดมากน้อยแค่ไหน ทั้งหมดขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เสียงกีต้าร์ และความพอใจของเราเป็นหลัก ในกีต้าร์หนึ่งตัวอาจจะมีวอลลุ่มและโทนมากว่า 1 ปุ่มก็ได้ เพื่อการใช้งานที่หลากหลายขึ้น เช่น กีต้าร์ gibson les paul จะมี 2 วอลลุ่ม 2 โทน เพื่อที่จะแยกควบคุมปิ๊กอัพทั้งสองตัวได้อย่างอิสระ หรือกีต้าร์บางรุ่นอาจจะมีแค่วอลลุ่มแค่ปุ่มเดียว ไม่มีโทน หรือกีต้าร์บางรุ่นอาจจะมีฟังก์ชั่นการปรับอื่นๆที่นอกเหนือจาก วอลลุ่ม และ โทน ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบของผู้ผลิต
สะพานสาย (Bridge)
สะพานสายคือตัวรองรับหย่องและสายกีต้าร์ไว้ ในกีต้าร์ไฟฟ้าจะต่างจากกีต้าร์โปร่งตรงที่บริดจ์สามารถถอดได้ ไว้สำหรับเซ็ทอัพ ซ่อม หรือเปลี่ยนได้ บริดจ์ของกีต้าร์ไฟฟ้าจะมีหลายแบบ เช่น แบบ ฟิกบริดจ์ (Fixed Bridge) คือแบบที่มีหน้าที่ลองรับสายอย่างเดียว เช่น กีต้าร์ทรง les paul , sg แบบ เทมโมโร (Tremolo Bridge) บริดจ์แบบนี้ก้านคันโยกที่บอดี้สามารถโยกลงได้นิดหน่อย โดยจะมีสปริงยึดอยู่ด้านหลังบอดี้เป็นตัวยึดและรองรับแรงในการกด เช่น กีต้าร์ fender ทรง strat บริดจ์อีกแบบคือ ฟรอยโรส (Floyd Rose Bridge) บริดจ์แบบนี้ออกแบบมาเพื่อการโยกโดยเฉพาะสามารถโยกขึ้นและลงได้มากกว่าแบบเทมโมโร มีสปริงยึดที่หลังบอดี้เหมือนกัน แบบกีต้าร์ Ibanez ซีรี่ย์ Rg แต่การใช้กีต้าร์ที่มีบริดจ์แบบฟรอยโรสอาจจะต้องมีการเซ็ทอัพกีต้าร์ที่ค่อนข้างละเอียดและหลายขั้นตอนซักหน่อย เพื่อเวลาที่เราใช้คันโยกสายกีต้าร์ของเราจะได้ไม่เพี้ยน
หย่อง (Saddle)
หย่องมีหน้าที่รองรับสายกีต้าร์ซึ่งอยู่บนบริดจ์อีกที และเป็นตัวกำหนดความสูงต่ำและอินโทรเนชั่นของสายกีต้าร์ด้วย ซึ่งเราสามารถปรับแต่งได้ที่หย่องเช่นกัน วัสดุที่ใช้ทำหย่องโดยมากก็จะเป็น เหล็กหรืออลูมิเนียม หน้าตาและรูปทรงของหย่องก็แตกต่างกันไปตามทรง รุ่น และยี่ห้อของกีต้าร์
ปิ๊กการ์ด (Pickguard)
ปิ๊กการ์ดของกีต้าร์ไฟฟ้ามีลายแบบและหลายวัสดุ เช่น พลาสติก ไม้ เหล็ก ไฟเบอร์ และอื่นๆอีกมากมาย นอกจากความสวยแล้วประโยชน์ของปิ๊กการ์ดสำหรับกีต้าร์ไฟฟ้าคือเป็นตัวยึด ปิ๊กอัพ ซีเล็คเตอร์ น็อบ รวมถึงสายไฟต่างๆอีกด้วย
ทั้งหมดคือส่วนประกอบของกีต้าร์ไฟฟ้าที่เราอยากจะแนะนำให้มือใหม่ได้รู้ไว้เป็นความรู้เพื่อการต่อยอดเรื่องกีต้าร์ในอนาคต
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น